วัน-เวลาทำการ :
วันจันทร์ - วันศุกร์ 09.00 - 17.00 น.

วันลอยกระทง

November 11, 2019 | by M.P. World Travel

วันลอยกระทง (Loy Krathong Festival) 

ประเพณีลอยกระทง เป็นพิธีอย่างหนึ่งที่มักจะทำกันในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง โดยจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียนหรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูปต่างๆ ที่ไม่จมน้ำ เช่น กระทง เรือ แพ ดอกบัว ฯลฯ แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์ และความเชื่อต่างๆ กัน

ตำนานและความเชื่อวันลอยกระทง

เรื่องแรกการลอยกระทงมีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพุทธ

มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ก่อนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา กาลวันหนึ่ง นางสุชาดาอุบาสิกาได้ให้สาวใช้นำข้าวมธุปายาส (ข้าวกวนหุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย) ใส่ถาดทองไปถวาย เมื่อพระองค์เสวยหมดแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ ด้วยแรงสัตยาธิษฐาน และบุญญาภินิหาร ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพระยานาคผู้รักษาบาดาลพระยานาคตื่นขึ้น พอเห็นว่าเป็นอะไร ก็ประกาศก้องว่า บัดนี้ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว ครั้นแล้วเทพยดาทั้งหลายและพระยานาค ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และพระยานาคก็ได้ขอให้พระพุทธองค์ ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อพวกเขาจะได้ขึ้นมาถวายสักการะได้ พระองค์ก็ทรงทำตาม ส่วนสาวใช้ก็นำความไปบอกนางสุชาดา ครั้นถึงวันนั้นของทุกปี นางสุชาดาก็จะนำเครื่องหอม และดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำ เพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำเสมอมา และต่อๆ มาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทง ตามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

เรื่องที่สอง ตามตำราพรหมณ์คณาจารย์กล่าวว่า

พิธีลอยประทีปหรือตามประทีปนี้ แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม เป็นประเภทคู่กับลอยกระทง ก่อนจะลอยก็ต้องมีการตามประทีปก่อน ซึ่งตามคัมภีร์โบราณอินเดียเรียกว่า “ทีปาวลี” โดยกำหนดทางโหราศาสตร์ว่า เมื่อพระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤกษ์เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลาตามประทีป และเมื่อบูชาไว้ครบกำหนดวันแล้ว ก็เอาโคมไฟนั้นไปลอยน้ำเสีย ต่อมาชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดี จึงแปลงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท และการรับเสด็จพระพุทธเจ้า ดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยมักถือเอาเดือน 12 หรือเดือนยี่เป็งเป็นเกณฑ์ (ยี่เป็งคือเดือนสอง ตามการนับทางล้านนา ที่นับเดือนทางจันทรคติ เร็วกว่าภาคกลาง 2 เดือน)

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องของพม่า

เล่าว่า ครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระประสงค์จะสร้างเจดีย์ให้ครบ 84,000 องค์ แต่ถูกพระยามารคอยขัดขวางเสมอ พระองค์จึงไปขอให้พระอรหันต์องค์หนึ่ง คือ พระอุปคุตช่วยเหลือ พระอุปคุตจึงไปขอร้องพระยานาคเมืองบาดาลให้ช่วย พระยานาครับปาก และปราบพระยามารจนสำเร็จ พระเจ้าอโศกมหาราช จึงสร้างเจดีย์ได้สำเร็จสมพระประสงค์ ตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 12 คนทั้งหลายก็จะทำพิธีลอยกระทง เพื่อบูชาคุณพระยานาค เรื่องนี้ บางแห่งก็ว่า พระยานาค ก็คือพระอุปคุตที่อยู่ที่สะดือทะเล และมีอิทธิฤทธิ์มาก จึงปราบมารได้ และพระอุปคุตนี้ เป็นที่นับถือของชาวพม่า และชาวพายัพของไทยมาก

เรื่องที่สี่ เกิดจากความเชื่อแต่ครั้งโบราณในล้านนาว่า

เกิดอหิวาต์ระบาด ที่อาณาจักรหริภุญชัย ทำให้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่ไม่ตายจึงอพยพไปอยู่เมืองสะเทิม และหงสาวดีเป็นเวลา 6 ปี บางคนก็มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ครั้นเมื่ออหิวาต์ได้สงบลงแล้ว บางส่วนจึงอพยพกลับ และเมื่อถึงวันครบรอบที่ได้อพยพไป ก็ได้จัดธูปเทียนสักการะ พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคดังกล่าวใส่ สะเพา ( อ่านว่า “ สะ - เปา หมายถึง สำเภาหรือกระทง ) ล่องตามลำน้ำ เพื่อระลึกถึงญาติที่มีอยู่ในเมืองหงสาวดี ซึ่งการลอยกระทงดังกล่าว จะทำในวันยี่เพง คือ เพ็ญเดือนสิบสอง เรียกกันว่า การลอยโขมด แต่มิได้ทำทั่วไปในล้านนา ส่วนใหญ่เทศกาลยี่เพงนี้ ชาวล้านนาจะมีพิธีตั้งธัมม์หลวง หรือการเทศน์คัมภีร์ขนาดยาวอย่างเทศน์มหาชาติ และมีการจุดประทีปโคมไฟอย่างกว้างขวางมากกว่า (การลอยกระทง ที่ทางโบราณล้านนาเรียกว่า ลอยโขมดนี้ คำว่า “ โขมด อ่านว่า ขะ-โหมด เป็นชื่อผีป่า ชอบออกหากินกลางคืน และมีไฟพะเหนียงเห็นเป็นระยะๆ คล้ายผีกระสือ ดังนั้น จึงเรียกเอาตามลักษณะกระทง ที่จุดเทียนลอยในน้ำ เห็นเงาสะท้อนวับๆ แวมๆ คล้ายผีโขมดว่า ลอยโขมด ดังกล่าว)

เรื่องที่ห้า กล่าวกันว่าในประเทศจีนสมัยก่อน

ทางตอนเหนือ เมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจะท่วมเสมอ บางปีน้ำท่วมจนชาวบ้านตายนับเป็นแสนๆ และหาศพไม่ได้ก็มี ราษฎรจึงจัดกระทงใส่อาหารลอยน้ำไป เพื่อเซ่นไหว้ผีเหล่านั้นเป็นงานประจำปี ส่วนที่ลอยในตอนกลางคืน ท่านสันนิษฐานว่า อาจจะต้องการความขรึม และขมุกขมัวให้เห็นขลัง เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผีๆสางๆ และผีก็ไม่ชอบปรากฏตัวในตอนกลางวัน การจุดเทียนก็เพราะหนทางไปเมืองผีมันมืด จึงต้องจุดให้แสงสว่าง เพื่อให้ผีกลับไปสะดวก ในภาษาจีนเรียกการลอยกระทงว่า ปล่อยโคมน้ำ (ปั่งจุ๊ยเต็ง) ซึ่งตรงกับของไทยว่า ลอยโคม จากเรื่องข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า การลอยกระทง ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงความกตัญญู ระลึกถึงผู้มีพระคุณต่อมนุษย์ เช่น พระพุทธเจ้า เทพเจ้า พระแม่คงคา และบรรพชน เป็นต้น และแสดงความกตเวที (ตอบแทนคุณ) ด้วยการเคารพบูชาด้วยเครื่องสักการะต่างๆ โดยเฉพาะการบูชาพระพุทธเจ้า หรือรอยพระพุทธบาท ถือได้ว่าเป็นคติธรรมอย่างหนึ่ง ที่บอกเป็นนัยให้พุทธศาสนิกชน ได้เจริญรอยตามพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทั้งปวงนั่นเอง Credit by Sanook.com